หลังจากการรับทานอาหารเที่ยงและน้ำมะพร้าวหวานเย็นชื่นใจเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาแห่งการเจาะเวลาผ่านภาพสลักของปราสาทนครวัด ในตอนนี้ ท้าวไซยขออกตัวว่า ภาพที่นำมาเสนอในตอนนี้ เป็นภาพที่ถ่ายหลากหลายแง่มุมในองค์ปราสาท ทั้งชั้นโคปุระ ในองค์ปราสาทชั้นที่ ๑ และชั้นบนขึ้นไป เจอตรงไหนก็ถ่ายตรงนั้น ไม่ได้เอามาเรียงภาพ และขออภัยว่า ไม่มีองค์ความรู้ในการบรรยายภาพแต่ละภาพเลย ต้องให้ทีมงานอีกหลายท่านมาช่วยอธิบายว่าแต่ละภาพหมายถึงอะไร
ท้าวไซยนั้นต้องกลับไปอ่านรามายณะ และ ภควัทคีตา อีกหลายๆ รอบก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้อ่านเลย ดังนั้นจึ่งขอนำเสนอรูปไปก่อน รูปนี้เจตนาขยายให้ใหญ่ไว้ เพราะเมื่อท่านไปชมของจริง ท่านจะงงและอัศจรรย์ใจมากว่าทำไมถึงได้ยิ่งใหญ่อลังการณ์ยิ่งนักเช่นนี้ ความละเอียดชดช้อยสวยงามมีชีวิตชีวาดังตัวจริงของรูปสลักนี้ สุดที่จะบรรยาย ต้องดูและเสพด้วยจิตใจที่พิจารณาอย่างลึกซึ้งเท่านั้น
นอกจากภาพสลักแล้ว ยังมีจารึกเป็นภาษาขอมโบราณ ท้าวไซยก็ยังไม่ทราบคำแปลว่ามีความหมายบอกความนัยใดไว้ ขอให้ท่านที่มีความเชี่ยวชาญช่วยเข้ามาขยายคำอธิบายต่อไป
มีเรื่องที่สะกิดใจท้าวไซยเล็กน้อย คือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม เท่าที่สังเกตุ มักจะเห็นพฤติกรรมในการชมภาพสลักและการก่อสร้างในความยิ่งใหญ่ สวยงามอลังการณ์ แต่ถ้าท้าวไซยสามารถรู้ในคนได้ จะมีใครที่มีคำถามตลอดเวลาหรือไม่ว่า ใคร เพราะอะไร ทำไม อย่างไร วิธีการใด เหล่านี้ถ้าถามไปด้วย ดูไปด้วย จะได้ความรู้คุ้มค่ากับการเสียเวลา ค่าใช้จ่าย ความรู้ที่นี่มีแทบจะทุกศาสตร์ ดูแล้วได้องค์ความรู้อะไรไปปรับใช้กับชีวิตตนเอง ประเทศชาติ หรือไม่
เห็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเป็นสุภาพสตรีสูงวัยท่านหนึ่งเอาปากกามาสเก็ตภาพองค์ปราสาทอย่างค่อยๆ คิดพิจารณาแล้วค่อยลากเส้นทีละนิดๆ จนเป็นรูปร่างขึ้นมาสวยงาม หากมองในแง่ศิลปินก็ดูดีมากที่มาสร้างผลงาน แต่เมื่อภาพนี้กลับไปเยอรมัน มูลค่าของภาพนี้จะสูงขึ้นทันที เพราะไปวาดที่สถานที่จริง เมื่อปล่อยกาลเวลาผ่านไปนานๆ เป็นร้อยปี ภาพนี้ก็จะมีค่าแก่ลูกหลานว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเขาได้มาที่ปราสาทแห่งนี้ ลูกหลานจะเกิดความภาคภูมิใจ
ดังนั้น หากพินิจพิจารณามาชมปราสาทขอมที่นี่ ควรชมด้วยความสุขุม ละเอียดรอบคอบ จะได้ความสุขในการแสวงหาความรู้ด้วยการท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง
นี่คือแนวทางของคณะ สี่พยัคฆ์คำเลาะ ครานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น